เตือนภัย!!! ฉีดโปรแกรมฟิลเลอร์เป็นก้อนง่าย บริเวณไหนต้องระวัง?
สวัสดีครับ ช่วงนี้ที่คลินิกผมมีโอกาสได้รักษาเคสที่มีปัญหาฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นลำเป็นก้อนอยู่เรื่อยๆ แม้ว่าเมื่อซักประวัติคนไข้แล้วก็พบว่าคุณหมอที่ให้การรักษาด้วยการเติมฟิลเลอร์ที่เก่านั้นก็เลือกใช้ประเภท โมเลกุลของฟิลเลอร์ได้เหมาะสมกับข้อบ่งชี้หรือบริเวณที่มีปัญหาต้องแก้ไขอยู่แล้ว แต่ทำไมจึงยังพบปัญหาฉีดฟิลเลอร์เป็นลำเป็นก้อนได้อีก บางเคสไปคลำเจอก้อนฟิลเลอร์ที่ตำแหน่งอื่นซึ่งไม่ได้รับการรักษาด้วยฟิลเลอร์เสียด้วยซ้ำ บทความนี้ผมเลยมาเล่าสรุปสาเหตุ ตำแหน่ง และการป้องกันไม่ให้เกิดก้อนจากการฉีดฟิลเลอร์ให้ฟังนะครับ
บริเวณไหนที่ฉีดโปรแกรมฟิลเลอร์เป็นก้อนได้บ่อย?
ในประสบการณ์แก้ไขเคสฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อนจากที่อื่นของผม พบว่า 3 บริเวณที่พบบ่อยมากที่สุด มีดังนี้ครับ
1. ฉีดฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นก้อน
2. ฉีดฟิลเลอร์ขมับแล้วเป็นก้อน
3. ฉีดฟิลเลอร์หน้าผากเป็นก้อน
ฉีดโปรแกรมฟิลเลอร์ใต้ตาเป็นก้อน
เรียกได้ว่าพบบ่อยเป็นอันดับ 1 เลยครับสำหรับบริเวณนี้ เพราะโครงสร้างทางกายวิภาคของบริเวณใต้ตานั้นซับซ้อนและบอบบาง รวมถึงมีกล้ามเนื้อและเอ็นกล้ามเนื้อที่ขยับตามการแสดงสีหน้าอารมณ์ได้มากอีกด้วย แม้ว่าจะเลือกใช้ประเภท โมเลกุลของฟิลเลอร์ที่เหมาะสมกับผิวของคนไข้แล้ว แต่ก็ยังอาจเกิดก้อนจากการฉีดฟิลเลอร์ร่องน้ำตา ฟิลเลอร์ใต้ตา ได้ง่ายมาก ผมพบว่าสาเหตุส่วนมากที่มาปรึกษาผมเพื่อให้การรักษาด้วยการฉีดสลายฟิลเลอร์ใต้ตานั้นมาจากปริมาณฟิลเลอร์ที่ใช้มากเกินไป
ทั้งนี้ปริมาณที่ “มากเกินไป” หรือเรียกว่า “overcorrection” นั้นไม่ได้หมายความว่าการฉีดฟิลเลอร์ใต้ตานั้นต้องใช้ปริมาณฟิลเลอร์ไม่เกิน 1 หรือ 2 cc นะครับ ความจริงแล้วไม่เกี่ยวข้องกันเลยด้วยซ้ำ ผมอธิบายให้ฟังง่ายๆแบบนี้ครับ ปัญหาร่องน้ำตา ถุงใต้ตา นั้นเรามักจะไม่ได้แก้ไขด้วยการฉีดฟิลเลอร์ที่หัวตาหรือที่ “ร่องน้ำตา” แต่เพียงบริเวณเดียว แต่แพทย์ที่มีประสบการณ์จะประเมินใบหน้าองค์รวม โดยเฉพาะบริเวณรอบดวงตา ขมับ กระบอกตา กระดูกและไขมันหน้าแก้ม แล้วให้การรักษาบริเวณเหล่านี้ก่อน จึงค่อยมาแก้ไข “ร่องน้ำตา” หรือ “ถุงใต้ตา” เป็นลำดับท้ายสุด ปริมาณฟิลเลอร์ที่ใช้จึงมีความแตกต่างไปในแต่ละเคสตั้งแต่ 1 cc ไปจนถึง 4-6 cc เลยครับ และไม่ได้หมายความว่าถ้าแพทย์ประเมินแล้วเลือกแก้ไขด้วยการฉีดฟิลเลอร์ 4 cc จะเป็นสาเหตุให้เป็นก้อนได้ง่ายกว่า เพราะปริมาณฟิลเลอร์ส่วนใหญ่ที่ใช้ถูกนำไปฉีดแก้ไขบริเวณอื่นๆก่อนนั่นเองครับ และอาจเหลือปริมาณฟิลเลอร์ที่ใช้แก้ไขร่องน้ำตาจริงๆเพียงแค่ 0.2-0.5 cc เท่านั้นเองครับ
ส่วน Overcorrection ที่หัวตานั้น ใน Masterclass ที่ผมมีโอกาสสอนเทคนิคการฉีดฟิลเลอร์ใต้ตานั้นผมแนะนำไม่เกิน 0.05 cc เท่านั้นเองครับสำหรับหัวตาชั้นตื้น และอย่างที่เล่าให้ฟังครับ ส่วนใหญ่เคสที่ต้องมาฉีดสลายฟิลเลอร์นั้นได้รับการฉีดบริเวณปริมาณมากเกินไป
อีกสาเหตุคือการฉีดผิดชั้นครับ หลายๆเทคนิคสำหรับการฉีดฟิลเลอร์ใต้ตานั้นต้องแก้ไขทั้งชั้นลึกชิดกระดูกเบ้าตา ชั้นไขมันใต้ตา หรือชั้นตื้นที่ใต้ผิวหนังบางๆใต้ตา ซึ่งในแต่ละชั้นนั้นต้องอาศัยความแม่นยำสูงในการนำเข็มเข้าสู่บริเวณที่ต้องการแก้ไขครับ และในบางบริเวณก็ไม่แนะนำให้ฉีดฟิลเลอร์ในบางชั้นด้วยเหตุผลทางกายวิภาคด้วยครับ ดังนั้นการฉีดฟิลเลอร์ผิดชั้นผิดตำแหน่งจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดก้อนได้นั่นเองครับ
ฉีดโปรแกรมฟิลเลอร์ขมับแล้วเป็นก้อน
บริเวณขมับเป็นตำแหน่งที่มีกายวิภาคหลายชั้นมากครับ ในปัจจุบันการศึกษาพบว่าเรียงตัวกันถึง 11 ชั้น แต่มีชั้นที่แนะนำให้ฉีดฟิลเลอร์แก้ไขขมับตอบหรือในเคสที่ต้องการยกกระชับผิวหย่อนคล้อย เพียง 3 ชั้น คือ
1. Subcutaneous plane ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง
2. Interfascial plane ชั้นช่องว่างระหว่างพังพืดขมับ
3. Supraperiosteal plane ชั้นเหนือเยื่อหุ้มกระดูก
ซึ่งคุณผู้อ่านเชื่อมั้ยครับว่าชั้นที่ฉีดง่ายที่สุดอย่างข้อ 3 หรือฉีดฟิลเลอร์บนเยื่อหุ้มกระดูก กลับเป็นชั้นที่ผมเจอเคสเข้ามาปรึกษาแก้ไขฟิลเลอร์เป็นก้อนจากการฉีดฟิลเลอร์ขมับมากที่สุด และก้อนที่พบนั้นมีทั้งก้อนในบริเวณขมับและอาจพบก้อนไปถึงตำแหน่งแก้มตอบหน้าใบหูได้ทั้งๆที่ไม่ได้มีการฉีดฟิลเลอร์ในบริเวณดังกล่าวเลยด้วยซ้ำ
สาเหตุของการฉีดฟิลเลอร์ขมับแล้วเป็นก้อนนั้นเพราะว่าเทคนิคที่ฉีดครับ โดยทั่วไปแล้วเทคนิคที่นิยมมากที่สุดสำหรับการฉีดฟิลเลอร์ขมับในชั้นลึกบนเยื่อหุ้มกระดูกนั้นคือการใช้เข็มคม (ไม่นิยมเข็มปลายทู่) แต่การวางองศาของเข็มที่ไม่เหมาะสมรวมถึงปริมาณฟิลเลอร์ที่ใช้มากเกินไปจะทำให้มีฟิลเลอร์ส่วนนึงไหลย้อน (Reflux flow) ขึ้นมาที่ชั้นอื่นๆของขมับได้ และบางชั้นของไขมันชั้นลึกบริเวณขมับนั้นเชื่อมต่อกับไขมันชั้นลึกบริเวณแก้มตอบ หน้าใบหู จึงทำให้ฟิลเลอร์ที่ไหลย้อนขึ้นมานี้ไหลเข้าสู่ไขมันชั้นนี้ได้และคลำได้ก้อนนั่นเองครับ
รีวิวโปรแกรมฟิลเลอร์ขมับ
ฉีดโปรแกรมฟิลเลอร์หน้าผากเป็นก้อน
ตำแหน่งหน้าผากเป็นอีกตำแหน่งที่เจอปัณหาฉีดฟิลเลอร์เป็นก้อน ไม่เรียบเนียน ไม่สม่ำเสมอ ได้บ่อยครับ ทั้งนี้เพราะผิวหนังบริเวณหน้าผากนั้นแม้ว่าจะบางมากแต่ก็มีการเรียงตัวทางกายวิภาคซับซ้อนถึง 8 ชั้น ในประสบการณ์ร่วมแชร์เทคนิคการฉีดฟิลเลอร์หน้าผากของผมใน Hands-on workshop นั้น พบว่าผู้เรียนส่วนนึงไม่สามารถวางเข็มปลายทู่ที่ใช้สำหรับฉีดฟิลเลอร์หน้าผาก ให้อยู่ในชั้นที่ถูกต้องสำหรับการรักษาด้วยฟิลเลอร์ได้อย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้ผลลัพธ์อาจจะไม่เรียบเนียนได้ และแม้วางในชั้นที่ถูกต้องแล้ว แต่การดันยาเร็ว แรงเกินไป ก็เป็นสาเหตุให้มีฟิลเลอร์ไหลย้อนกลับมาตามแนวเข็ม (Reflux flow) ขึ้นมาอยู่ในชั้นที่ตื้นกว่าและคลำได้ก้อนในที่สุดครับ
รีวิวโปรแกรมฟิลเลอร์หน้าผาก
แม้การฉีดสลายฟิลเลอร์ด้วย Hyaluronidase นั้นสามารถแก้ไขปัญหาฉีดฟิลเลอร์เป็นก้อนได้ แต่ในบางเคสอาจมีภาวะแพ้ยาฉีดสลายฟิลเลอร์ การป้องกันจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดครับ พิจารณาจากสถานพยาบาลที่น่าเชื่อถือ ตัวยาฟิลเลอร์ของแท้ ขอตรวจสอบได้ แกะกล่องให้ดูต่อหน้า และแพทย์ที่มีประสบการณ์ ประเมินปัญหาใบหน้าได้ตรงจุด เลือกใช้ประเภท โมเลกุลของฟิลเลอร์ที่เหมาะสม และใช้เทคนิคการฉีดฟิลเลอร์ที่ปลอดภัยและให้ผลลัพธ์ที่ดีครับ